จากศูนย์สู่ Digital Nation แถวหน้า
ถอดบทเรียนความสำเร็จเอสโตเนีย 12 ข้อ
จากศูนย์สู่ Digital Nation แถวหน้า
ถอดบทเรียนความสำเร็จเอสโตเนีย 12 ข้อ
Insights จาก Thailand Competitiveness Conference 2023
1. เริ่มต้นจากศูนย์ แต่... หลังได้เอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 เอสโตเนียเป็นประเทศยากจน ยังไม่มีสำนักงานใด ๆ ของรัฐ ไม่มีแม้แต่กรมสรรพากร ตลาดแรงงานไม่ได้แบ่งเป็นภาครัฐและเอกชน รัฐบาลใช้วิธีดึงคนเก่งๆจากภาคเอกชนมาเป็นช่วยงาน และที่สำคัญคนชั้นนำได้ร่วมแรงร่วมใจ สร้างประเทศเกิดใหม่ของตนให้เติบโต
2. ปัญหามาปัญญาก็มาด้วย เพราะไม่มีงบประมาณมากนัก จึงต้องแก้ปัญหาว่ารัฐจะให้บริการประชาชนอย่างไร ตั้งสำนักงานคงไม่ไหว สมัยนั้นเริ่มมีอินเตอร์เน็ตแล้ว จึงตัดสินใจว่าต้องเลือกการให้บริการรัฐทั้งหมดผ่านระบบออนไลน์ จากการทำเพราะข้อจำกัดผสมวิสัยทัศน์ ได้กลายเป็น Competitive Advantage ในยุคนี้
3. อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสิทธิมนุษยชน บริการดิจิทัลไม่ได้ทำไว้เพื่อคนรวยแต่เอาไว้บริการประชาชนทั้งหมด ในยุค 90’s คอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย ตามบ้านยังไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตใช้ ทำอย่างไรจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐจึงประกาศให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นสิทธิของพลเมือง และจัดการให้ประชาชนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ตามสำนักงาน ห้องสมุด และโรงเรียน เพื่อรับบริการและทำ transactions ในทุกมิติกับรัฐได้ บริการออนไลน์แรกที่ทำคือเรื่องภาษี เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีใครอยากพบปะเจ้าหน้าที่สรรพากรอยู่แล้ว
4. ไม่ยากเกินเรียนถ้ามีแรงจูงใจ การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย ในตอนแรกคนก็ไม่ค่อยสนใจ แต่พอเริ่มเห็นว่าคนที่ใช้บริการออนไลน์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งการได้รับเงินช่วยเหลือในหมู่ผู้สูงวัย จากจุดนั้นก็ไม่มีใครแก่เกินเรียนอีก นอกจากนี้ภาคเอกชนยังร่วมมือเข้ามาช่วยสอนการใช้คอมพิวเตอร์ให้ประชาชนด้วย ทั้งสภาพอากาศของเอสโตเนียก็มีส่วน ทำรายการออนไลน์ย่อมดีกว่าการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ฝ่าอากาศหนาวเหน็บ ไปทำเรื่องรับสิทธิ์ที่สำนักงานรัฐเป็นไหน ๆ
5. รวมศูนย์ข้อมูลได้เพราะใช้ Digital Identity การมี digital ID เพียงหนึ่งเดียวสำคัญมากหากจะทำ
e-government ให้สำเร็จ ประชาชนแต่ละคนจะต้องมี A Single Digital Identity สิ่งนี้คล้ายกับบัตรประจำตัวประชาชน แต่เป็นระบบดิจิทัลที่เอาไว้แสดงตัวตนเพื่อรับบริการได้กับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยข้อมูลจะส่งต่อกันได้ระหว่างหน่วยงาน
6. The Once Only Principle ช่วงแรก ๆ บริการต่าง ๆ ยังไม่ได้เชื่อมเข้าด้วยกัน เวลาคนจะติดต่อกระทรวงต่าง ๆ ก็ต้องกรอกข้อมูลเดิม ๆ ซึ่งน่าเบื่อหน่ายและไม่จำเป็น ในที่สุดนายกฯ จึงขอให้รัฐสภาอนุมัติหลักการ
The Once Only Principle คือหากประชาชนแจ้งข้อมูลทั้งหมดให้รัฐไปแล้ว รัฐจะไม่มีสิทธิขอซ้ำอีก ครั้งถัดไปหน่วยงานรัฐแค่ต้องขออนุญาตประชาชน นำข้อมูลที่ประชาชนให้ก่อนหน้านี้ไปใช้ต่อ หน่วยงานรัฐทั้งหลายต้องหันมาแบ่งปันข้อมูลกัน แทนการทำงานแยกส่วนเป็น Silo
7. Trust and Cyber Security การรักษาความปลอดภัยไฟล์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องใช้ digital ID ในการเข้าถึงและจะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ทำให้รู้ว่าใครเข้ามาอ่านข้อมูลอะไรไปบ้าง การเก็บแบบดิจิทัลปลอดภัยกว่าเอกสารกระดาษซึ่งใครจะเปิดอ่านก็ได้ แต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลของประชาชนคนหนึ่งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานตนเอง คนเดียวที่มีสิทธิ์เรียกดูข้อมูลทั้งหมดคือประชาชนคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลเท่านั้น รัฐบาลให้สัญญาว่าจะไม่เอาข้อมูลไปใช้ในทางผิด และสร้างบทลงโทษไว้ในกฎหมายอาญา จับจริงส่งขึ้นศาลจริงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
8. สร้างโอกาสที่เท่าเทียม เมื่อรัฐบาลเปิด 24 ชั่วโมง ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ ธุรกิจใหญ่อาจไม่สนใจว่ารัฐบาลจะออนไลน์หรือไม่เพราะจ้างคนมาจัดการได้ แต่เป็นการช่วยเหลือภาค SMEs อย่างมาก นอกจากนี้กรมสรรพากรเอสโตเนียยังทำระบบช่วยบริษัท SMEs ทำบัญชีได้ถ้าต้องการ นอกเหนือจากความเท่าเทียมระดับองค์กร ยังมีความเท่าเทียมสำหรับบุคคลด้วย อย่างแม่ลูกอ่อนที่ต้องดูแลลูกอยู่กับบ้านตลอดเวลา ก็มีโอกาสจะทำอะไรได้มากขึ้นผ่านระบบออนไลน์ของรัฐ
9. ไม่ใช่ถูกแต่คุ้มค่า ค่าใช้จ่ายของระบบข้อมูลออนไลน์นี้ไม่ใช่ถูก คืออย่างน้อย 1% ของ GDP ประจำปี แต่บริการออนไลน์นี้ก็ช่วยประเทศเอสโตเนียประหยัดเงินได้ 2% ของ GDP ทีเดียว เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นหากไม่มีระบบออนไลน์ใช้
10. Digital ID Is Key เคล็ดลับการเติบโตอย่างรวดเร็วเกิดจากการใช้ digital ID เอสโตเนียไม่สนใจว่าแรงงานจะอยู่ที่ไหน เพราะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ การทำเช่นนี้ช่วยส่งเสริมภาคแรงงานของเอสโตเนียซึ่งมีคนน้อยมาก แม้จะจ่ายเงินเดือนออกไปให้สถานที่ที่พวกเขาอยู่จริงนอกประเทศ แต่ผลประโยชน์ในมูลค่าของบริษัทที่พวกเขาอยู่จะเกิดขึ้นในประเทศ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด แม้แต่บริษัทเอสโตเนียที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิมยังทำตาม จนมีโรงงานอยู่นอกประเทศจำนวนมากแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจเล็ก
11. ต่อยอด Digital ID สู่ E-Residents เอสโตเนียมีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน จึงต้องการแรงงานและบริษัทมาเพิ่ม และได้เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกเข้ามาตั้งบริษัทในเอสโตเนีย การเป็น E-Residents นั้น ตัวบุคคลและโรงงานจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก แต่พวกเขาจะได้รับประโยชน์จาก Ease of Doing Business และความโปร่งใสจากระบบ
E-Government ของเอสโตเนีย อีกข้อได้เปรียบคือเอสโตเนียอยู่ในสหภาพยุโรป ถ้ามาตั้งบริษัทที่เอสโตเนียก็จะได้สิทธิประโยชน์ของ EU ที่เอื้อต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก เมื่อเกิด Brexit บริษัทในอังกฤษจำนวนมากก็หันมาใช้สิทธิประโยชน์จาก offer นี้ โครงการ E-residents อายุยังไม่ถึง 10 ปีแต่มีคนเข้าร่วมเกินแสนคน ในประเทศไทยปัจจุบันก็มี Estonia E-Residents อยู่ราว 200 คน
12. สภาพแวดล้อมที่ใช่เอื้อให้เกิด Unicorns เอสโตเนียมีบริษัท startups ที่เป็น unicorn ถึง 10 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วน Unicorns ต่อประชากรล้านคนที่สูงที่สุดในโลก เศรษฐกิจ 80% ของเอสโตเนียเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอก สภาพแวดล้อมทางภาษีที่ดีดึงดูดการลงทุน ทำให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันสูง แรงงานก็คุณภาพสูงเพราะสามารถดึงคนมีความสามารถได้จากทั่วโลก
และนี่คือเรื่องราวดี ๆ จากเอสโตเนีย ที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยให้องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนของไทย เห็นแนวทางที่จะหยิบยืมนำไปใช้บ้างไม่มากก็น้อย