top of page

Sustainability Forum กับ 5 มุมมองต่อการดำเนินธุรกิจบนแนวคิดความยั่งยืน



Sustainability Forum กับ 5 มุมมองต่อการดำเนินธุรกิจบนแนวคิดความยั่งยืน


สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย – TMA เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยในปี 2021 ที่ผ่านมา ได้จัดงาน Sustainability Forum มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ธีม “Navigating the Uncertainty with ESG” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรขององค์กรชั้นนำระดับประเทศหลายแห่งมาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจบนแนวคิดความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งบทสรุปของมุมมองต่อการดำเนินธุรกิจบนแนวคิดความยั่งยืน มีดังนี้


1. โลกอนาคตของธุรกิจเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งความท้าทายด้านชุมชนและสังคม ที่ธุรกิจต้องอาศัยการยอมรับและความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางสังคม ความท้าทายด้านความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถทำให้การดำเนินธุรกิจไม่ต่อเนื่อง ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ การกำกับดูแลและการแก้ไขกฎหมายหรือกติกาการค้าที่ได้เพิ่มน้ำหนักการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจึงควรปรับทั้งการกำหนดกลยุทธ์และขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับกติกาใหม่และสร้างความยืดหยุ่นให้องค์กรสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วในทุกสถานการณ์


2. การตระหนักถึงประเด็นความยั่งยืน เท่ากับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างการยอมรับในตลาด ภายใต้สถานการณ์ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นวาระระดับโลกที่ทุกองค์กรต้องให้ความสนใจ ตลาดการค้าในปัจจุบันได้แสดงความกังวลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเริ่มมีการปรับใช้กฎหมายและกติกาการค้าใหม่ในหลายภูมิภาคของโลก ปัจจัยดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันให้ธุรกิจแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม


3. ESG เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้น ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ความสนใจเรื่อง ESG และสถิติการจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด้าน ESG มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ ควรเริ่มทำ ESG Report เพื่อสร้างความได้เปรียบและดึงความสนใจจากนักลงทุน


4. ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดด้านความยั่งยืนในองค์กร 3 ประการ ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน และการเล็งเห็นความสำคัญ ดังนั้น การสื่อสารทั้งภายในองค์กรและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรในการขับเคลื่อนแนวคิดด้านความยั่งยืนและกำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้อย่างชัดเจนจึงเป็นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญ


5. การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน มิได้ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป ก็สามารถเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นและเร่งด่วนต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการสำรวจและลดพฤติกรรมการก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งองค์กรธุรกิจสามารถที่เป็นผู้ริเริ่มตามแนวคิด “Planet Centric” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกให้แตกต่างจากที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย ได้มีหลายองค์กรเป็นผู้นำริเริ่มเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว โดยบรรจุประเด็นเรื่องความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้การดำเนินธุรกิจได้คำนึงถึงความยั่งยืนตลอดทุกขั้นตอน และ ใช้แนวทางการสร้างภาวะผู้นำโดยกำหนดเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจนและวัดผลได้ การสร้างกลไกในการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้การดำเนินการธุรกิจเกิดความยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการวางแนวทางพัฒนาตามหลักเป้าหมายความยั่งยืน ขณะที่ ธุรกิจในอุตสาหกรรม MICE ที่การเติบโตอยู่บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมของประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ทำให้วงการนี้ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการองค์การมหาชน จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนเป็นสิ่งที่จำเป็น แนวคิด ESG ควรเป็นบทบาทและหน้าที่ของทุกภาคส่วน รวมทั้งชุมชนที่ควรให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงจะทำให้สร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกเป็นวงกว้างได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น การคืนพื้นที่สีเขียวให้แก่โลกไม่เพียงแต่เพื่อโลก แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน การยกระดับการท่องเที่ยวและส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น และท้ายที่สุดจะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชนได้อีกด้วย

144 views0 comments

コメント


bottom of page