top of page

คำตอบของความสำเร็จ'ธีรนันท์ ศรีหงส์' เรียบเรียงจากงานสัมมนา Leadership Energy Summit Asia 2016

คำตอบของความสำเร็จ'ธีรนันท์ ศรีหงส์'


ทำไม "แอปเปิล" จึงเป็นบริษัทที่มี อินโนเวชันตลอดเวลา และสามารถเอาชนะบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของคนแทบทุกคน

ทำไม "มาร์ติน ลูเธอร์ คิง" ซึ่งเป็นคนดำ สามัญธรรมดาๆ คนหนึ่ง และไม่ได้เป็นคนเดียวที่ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในสังคมแบ่งแยกสีผิว แต่แล้วเขากลับสามารถผลักดันเรื่องความเท่าเทียมขึ้นมาในสังคมอเมริกันได้ ทำไม "พี่น้องตระกูลไรท์" ที่เรียนจบแค่ ชั้นมัธยม และเป็นเพียงเจ้าของร้านซ่อมจักรยาน ได้กลายเป็นตำนานติดปีกให้กับมนุษยชาติ พวกเขาทำให้เกิดการบินได้เป็นครั้งแรก "เพราะมีความเชื่อมั่น ทำงานอย่างมีพลัง เขาเข้าใจว่าจะทำไปทำไม" นี่คือคำตอบที่ "ธีรนันท์ ศรีหงส์"กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และประธานบริษัท กสิกร บิสิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้ค้นพบว่า ทำไม ผู้นำ หรือองค์กรที่แสนธรรมดาๆ ไม่ได้เป็น ผู้วิเศษแต่อย่างไร สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ สร้างความสำเร็จแบบสะเทือนโลกได้ หลังจาก ที่พยายามใคร่ครวญค้นหามาเป็นเวลาเนิ่นนาน การเป็นผู้นำเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาสามารถจินตนาการได้ว่า กว่าจะสำเร็จ ผู้นำต้องผจญกับความเชื่อและแรงต่อต้านที่มากมาย ซึ่งผู้นำต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับ ตัวเอง แล้วจะทำได้อย่างไร ธีรนันท์มีเคล็ดลับอยู่ 3 ข้อ ดังนี้ ข้อแรก ต้องสร้างพลังภายในใจ โดยการตอบคำถามในทุกๆครั้งที่ทำงานหรือเวลาที่ต้องแก้ไขโจทย์ที่ยากว่า เราทำไปเพื่ออะไร เราต้องการสร้างอะไรให้เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นทำไมมันจึงต้องเกิด ข้อสอง ในการทำงานต้องพบเจอกับปัญหาทั้งสิ้น ก็อย่าท้อแท้สิ้นหวัง ที่ควรทำ คือถอยออกมาเพื่อมองดูภาพที่กว้างขึ้น และหาทางทำให้ปัญหาเล็กลงทำให้มันเป็นเพียงแค่ก้อนหินก้อนเล็กๆที่ตำเท้าอยู่ในรองเท้า ที่แค่สร้างความรำคาญแต่ไม่ใช่หินก้อนใหญ่ที่ขวางกั้นกระทั่งทำให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ข้อสุดท้าย เมื่อผ่านสมรภูมิและสู้รบเรียบร้อยแล้ว สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดพลังและมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นและยากขึ้นได้เรื่อยๆ ก็คือต้องตั้งใจเรียนรู้ เมื่อได้พบเจอกับปัญหาในแต่ละครั้ง ว่าได้ทำอะไรลง แก้ไขมันอย่างไร แล้วได้ผลหรือไม่อย่างไร " การเรียนรู้จะทำให้คุณมีความมั่นใจมากขึ้นและเจอปัญหาอีกคุณจะรับมือได้ดีขึ้นกว่าเดิม มันต้องฝึกไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อรู้ว่าพลังงานเกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้องจำโมเมนท์นั้นให้แม่นๆ และฝึกซ้ำๆ ซึ่งวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ผมยังได้พบอีกว่ามีหลายๆเรื่องที่เคยไม่คิดออก แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง บางทีมันช่วยเชื่อมโยงและทำให้สามารถตอบปัญหาที่เคยพบก่อนหน้า ทำให้เข้าใจว่าครั้งนั้น ครั้งโน้น ที่เราพลาดไปเพราะอะไร" แต่องค์กรจะมีพลังขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะผู้บริหาร หรือผู้นำที่ลุกขึ้นมาทำเพียงลำพัง แต่ทุกๆคนในองค์กรต้องมีความเข้าใจ และเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำอยู่ มนุษย์ทำงานมักมีอยู่สามประเภทหลักๆ กลุ่มแรก ทำงานไปวันๆ แค่ต้องการเงินไปเลี้ยงชีวิตและครอบครัว กลุ่มที่สอง ทำงานเพราะต้องการความนับถือ การยกย่อง อยากได้ความก้าวหน้าในองค์กร ส่วนกลุ่มสุดท้าย กลับคิดต่างไปว่า อยากจะทำงานในทุกๆวันเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการ หรือมีความต้องการทำให้คนอื่นหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่เคยเกลียดเช้าวันจันทร์เลย "เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการจะผลักดัน สิ่งที่ยิ่งใหญ่ มีความยากลำบาก สิ่งแรกที่คุณ ต้องหาให้เจอ ก็คือเรากำลังจะพาทีมงานไปสู่ความยากลำบากเพื่ออะไร กำลังจะทำ สิ่งนั้นเพื่ออะไร ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมักจะไม่สามารถ บอกได้ชัดถึงกำไรที่เพิ่มขึ้น หรือตำแหน่งงานที่ดีขึ้น แต่ต้องเป็นการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เพื่อให้ได้ใจพวกเขามา" และทุกๆการเปลี่ยนแปลงก็มักจะเกิดแรงต่อต้านเกิดขึ้นในองค์กร เพราะคนในองค์กรต่างก็คิดว่าที่ทำในปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว ขณะที่องค์กรทั่วไปที่ต้อง การสร้างความเปลี่ยนแปลงก็มักบอกคนในองค์กรว่า ต้องการ สร้างโลกใหม่ไปหาตลาดใหม่ที่สวยงามกว่า "คนในองค์กรมักจะตั้งคำถามว่ามันสวยจริงหรือ มันสวยแค่ไหน การมองไปข้างหน้ามักเป็นภาพที่เห็นได้ไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าคุณค่ามันคืออะไร มีมากแค่ไหน ในเชิงจิตวิทยาแล้วความรู้สึกในแง่ลบจะมีพลังมากกว่าความรู้สึกในแง่บวกเสมอ" แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อให้ใจของทีมงานมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกันขับเคลื่อน ไปในทิศทางที่ผู้นำ หรือองค์กรมุ่งหวัง ธีรนันท์บอกว่า หน้าที่ในการผลักดันของผู้นำจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ หนึ่ง หาวิถีทางว่าต้องทำอย่างไรจะให้คนเข้ามามีส่วนร่วม มาร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ และตัวผู้นำเองต้องพูดถึงเรื่องราวเหล่านั้นจนกระทั่งเขามีความเชื่อ "แม้กระทั่งจะเลือกเอาคนเข้ามาอยู่ในทีมก็อาจต้องเลือกคนที่มีไอเดีย มีความเชื่อคล้ายๆกัน ทุกอย่างจะแอคทีฟถ้าหากทีมงาน เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อและเป็นสิ่งที่ผู้นำเชื่อ หรือเขาเชื่อว่าผู้นำเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ หรือผู้นำต้องทำให้เขาเชื่อในสิ่งที่ผู้นำเชื่อ" สอง เป็นธรรมชาติที่ทุกคนต้องรับรู้ถึง บทบาทของตัวเอง ผู้นำต้องสื่อสารให้ทีมงาน รับรู้ว่าในการเดินทางครั้งนี้ แต่ละคนมีบทบาท อย่างไร ให้เขารู้ว่า เขาคือใคร ทำไมเขาจึง ถูกเลือก องค์กรอยากให้เขาเข้ามาช่วยตรงไหน และทำไมการเข้ามาช่วยของเขาจึงมีความสำคัญ สาม สร้างบรรยากาศของการทำงานให้มีความสนุกสนาน ตื่นเต้น มีความท้าทาย อยู่ตลอดเวลา "เวลาตั้งโครงการบางอย่างที่ต้องทำอะไร ยากๆ เราต้องเลือกคนที่สนุกกับสิ่งกำลังทำ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ดังนั้นในบางครั้ง ก็มีความจำเป็นต้องเอาคนเก่งฝีมือดีออกจาก ทีมงานเพราะเขาไม่อยากมีส่วนร่วมหรืออาจสร้างพลังงานในแง่ลบให้กับทีมงานได้" สี่ แม้เป้าหมายควิกวิน ต้องคว้าความสำเร็จอย่างรวดเร็วย่อมเป็นที่หมายปอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกๆโครงการจะสามารถทำได้ แต่ระหว่างทางผู้นำต้องสื่อสารให้ทีมงานทุกคนได้ล่วงรู้ว่า บนเส้นทางเดินในเวลานี้ทีมงานเดินมาถึงตรงไหน ยังเหลือเวลาเท่าไหร่ ยังเหลือทรัพยากรอีกเท่าไหร่ ยังมี ความท้าทายอีกเท่าไหร่ เพราะคงไม่มีทางที่องค์กรจะเดินไปถึงจุดหมายได้ โดยที่ทีมงานไม่รู้ว่าเดินถึงตรงไหน จุดหมายยังอีกไกลหรือเปล่า ข้อสุดท้าย ผู้นำต้องทำให้ทีมงานรู้สึกว่ามีความหวังรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นความหวังของการทำให้งานนั้นให้เสร็จ สิ่งที่ทำร่วมกันจะสร้างสิ่งที่มีความหมายให้กับมนุษย์ กับสังคม กับสิ่งแวดล้อม คนรอบข้างได้จริงๆ ความหวังจะทำให้คนสามารถตื่นขึ้นมาอย่างมีพลังได้ในทุกๆเช้า "บางครั้งความหวังก็เป็นสิ่งที่ผู้นำ ที่ต้องสร้างขึ้นมา ถ้าโอกาสมันไม่เข้ามา ก็สร้างประตูให้มันมาเคาะ เช่น ถ้าบริษัท ของเราทุกวันนี้กำลังขายของให้คนอายุน้อย ขณะที่ตลาดคนไทยกว่า 65 ล้านคน กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ผมในฐานะผู้นำ ก็คงจะบอกทีมงานว่าต้องเปลี่ยนตลาดไม่ใช่ 65 ล้านคนแต่เป็นตลาด 230 กว่าล้านคน คือต้องขยายไปยังประเทศเขมร ลาว พม่า เวียดนามด้วย" หมายเหตุ : เรียบเรียงจากงานสัมมนา Leadership Energy Summit Asia 2016 จัดโดยสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA "ถ้าโลกต้องเปลี่ยน แล้วเราต้องเปลี่ยน แล้วทำไมเรา จึงไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้" ธีรนันท์ ศรีหงส์ วิ่งให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง ผู้นำอาจติดกับดักเวลาสร้างพลังให้กับตัวเองและทีมงาน ธีรนันท์บอกว่าที่ต้องตระหนักก็คือ อย่าพยายามวิ่งไปหาความสมบูรณ์แบบ แค่พยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดก็พอ เพราะการจะเดินไปข้างหน้าคงไม่มีใครล่วงรู้ว่าต้องเดินอย่างไร ย่อมต้องมีความผิดพลาดแต่ถึงจุดหนึ่งต้องพร้อมจะเรียนรู้และหาทางแก้ไขหากผลงานไม่สมบูรณ์ ต้องยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนที่เป็นไปไม่ได้ หากผู้นำและทีมมีพลัง มีความรู้ การพบเจอกับปัญหาต่างๆ ที่สุดแล้วก็จะหาทางออกได้อย่างแน่นอน "วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การนำองค์กรไปสู่โลกที่ผันผวนไม่แน่นอน ผู้นำมักจะเจอคำถามว่าทำไมต้องเปลี่ยน ทำไมองค์กรและทีมงานต้องไปต่อสู้กับความยากลำบาก ซึ่งผู้นำที่สำเร็จเขาจะตอบว่า ถ้าโลกมันเปลี่ยนแล้วทำไมเราจะไม่เปลี่ยน แล้วถ้าโลกต้องเปลี่ยนแล้วเราต้องเปลี่ยนแล้วทำไมเราจึงไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ แล้วถ้าโลกต้องเปลี่ยนแล้วมันต้องเปลี่ยนวันนี้ ทำไมวันนี้จึงไม่ควรจะเป็นเรา"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2559 หน้า 26

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page