top of page

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ได้จัดงาน "TMA DAY 2016 Business Transformtion"

วันก่อน ไอดีซีเผยการคาดการณ์เทคโนโลยีสำคัญสำหรับประเทศไทย ปี 2560 เป็นต้นไป โดยเน้นว่าผลจากการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ขององค์กรต่างๆ ทั่วโลกจะเข้าสู่ระดับเศรษฐกิจมหภาคในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีที่บริษัทดำเนินการ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจโลกในที่สุด โดยไอดีซีเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นรุ่งอรุณของ "เศรษฐกิจ ดีเอ็กซ์" อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่องค์กรต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ ประสบการณ์ใช้งาน และรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ผ่านการใช้งาน เทคโนโลยีคลาวด์ โมบิลิตี้ คอกนิทีฟ/ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อินเทอร์เน็ต ออฟธิงส์ (ไอโอที) ความเป็นจริงเสริม/ความเป็นจริงเสมือน (เออาร์/วีอาร์) และทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้


ทิศทางที่จะเกิดขึ้น องค์กรต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงความต้องการในการใช้เทคโนโลยีไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ ทุกคนใช้เปลี่ยนแปลงแนวทางที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และดำเนินธุรกิจของตัวเอง การที่องค์กรจะเติบโตในเศรษฐกิจดีเอ็กซ์นี้ ทักษะทางเทคนิคของผู้บริหารองค์กร และความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะนำศักยภาพของเทคโนโลยี ไปใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก


พร้อมเผยการคาดการณ์สำคัญเชิงกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 เป็นต้นไปที่จะสร้างผลกระทบมากที่สุดให้แก่องค์กรในประเทศไทย โดยรุ่งอรุณแห่งเศรษฐกิจดีเอ็กซ์ ภายในปี 2563 นั้น 30% ของผู้ประกอบการ ที่ใหญ่ที่สุด 500 บริษัทของไทย จะพบว่าธุรกิจของพวกเขาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์การใช้งานที่มีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบ และ 2 ปีที่ผ่านมา องค์กรไทยจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เริ่มกระบวนการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นโดยใช้ เทคโนโลยีคลาวด์ อนาไลติกส์ เทคโนโลยีโซเชียล และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านสินค้า/บริการ รูปแบบ การทำธุรกิจ และความสัมพันธ์ต่างๆ ในรูปแบบใหม่ แต่ในปัจจุบันการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับโครงการริเริ่ม แต่ภายในปี 2563 จะเปลี่ยนไปสู่ระดับที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง คือระดับของเศรษฐกิจมหภาค อันเนื่องมาจากการที่ธุรกิจจำนวนมากนั้น สร้างรายได้กว่าครึ่งหนึ่งจากการทรานส์ฟอร์มผลิตภัณฑ์/บริการ การดำเนินงาน ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย และเครือข่ายลูกค้า ซึ่งจะยังผลให้ในทุกบริษัทกลายเป็น "ชาวดิจิทัล" และการผลักดันของรัฐบาลไทย สู่ "ประเทศไทย 4.0" จะได้รับการเปลี่ยนรูปแบบในขณะที่องค์การต่างๆ ได้ทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน


รายได้เชิงดิจิทัล ภายในปี 2062 นั้น 25% ของโครงการด้านไอที จะสร้างบริการและแหล่งรายได้ใหม่เชิงดิจิทัล ที่เกิดจากการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นรายได้ ในยุคดีเอ็กซ์ การทำทรานสฟอร์เมชั่นด้านข้อมูลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ทรานสฟอร์เมชั่น ด้านข้อมูลเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์และการพัฒนาคุณค่า และประโยชน์ของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ตลาด การทำธุรกรรมบริการ ผลิตภัณฑ์ สินทรัพย์ และประสบการณ์ทางธุรกิจ ซึ่งข้อมูลจะกลายเป็นทุนดิจิทัลอย่างแท้จริง การสร้างรายได้จากข้อมูลจะผลักดันให้เกิดความต้องการสถาปัตยกรรมข้อมูลสำหรับทั่วทั้งองค์กรและการพัฒนาในด้านการ วิเคราะห์อนาไลติกส์ บริษัทจะต้องจัดการข้อมูลเช่นเดียวกับสินทรัพย์ที่มีมูลค่าต่างๆ และซีไอโอจะต้องสร้างกลยุทธ์องค์กรสำหรับการนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์/บริการ ตามความต้องการของลูกค้าและโอกาสต่างๆ สถาปัตยกรรมข้อมูลแบบใหม่ที่เอื้อต่อการวิเคราะห์ข้อมูลในแบบเรียลไทม์รวมถึงทักษะการทำเหมืองข้อมูลนั้นจะมีความจำเป็นในการสร้างรายได้เชิงดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ขณะที่ วานนี้ (30 พ.ย.) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ได้จัดงาน "TMA DAY 2016 Business Transformtion" ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กรธุรกิจขึ้นเวทีถ่ายทอดประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล แสดงว่า ภาคธุรกิจต่างเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และหวังว่า อนาคตของธุรกิจจะสดใส ตรงความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น


กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page