top of page

Netherlands 2014

Visits and Trips

The Netherlands Food Innovation Trip 2013

20-27 October  2014 (7 วัน 5 คืน)

จัดโดย  TMA


สมาชิก TMA และผู้สนใจร่วมเดินทาง 6 ท่าน

เจ้าหน้าที่ TMA  4 ท่าน


ในระหว่างวันที่ 20 - 27 ตุลาคม 2014 ได้นำคณะสมาชิกผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้านอาหารชื่อดังในประเทศไทย ร่วมเดินทางเพื่อร่วมประชุมกับองค์กรชื่อดัง 6 แห่ง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ในการเดินทางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดองค์ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทางด้านแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและการวิจัย ซึ่ง TMA ได้มีการดำเนินงานในการเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย การกระตุ้นให้องค์กรภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งในด้านการเสนอแนะแผนงาน การจัดการระดมความคิดเห็นในเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนา การร่วมผลักดันผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ไทยก้าวเป็น World Leader in food ซึ่งเป็นหนึ่งในการเสริมสร้างความสามารถของธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ (Growth Drivers)


สถานที่ เยี่ยมชมงานและรับฟังการบรรยาย (บรรยาย 1.5 ชม. + Q&A)

1. Food Valley (Wageningen) /  - Wageningen University and Research Center Restaurant of the Future / Consumer Science

2. FrieslandCampina (Wageningen)

3. Unilever R & D (Vlaardingen ) / Unilever Pilot Plant

4. Food Valley Expo (Arnhem)

5. MW Brands (Paris)


ในระหว่างวันที่ 20 - 27 ตุลาคม TMA ได้นำคณะสมาชิกผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้านอาหารชื่อดังในประเทศไทย ร่วมเดินทางเพื่อร่วมประชุมกับองค์กรชื่อดัง 6 แห่ง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ในการเดินทางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดองค์ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทางด้านแนวคิดในการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)


การพัฒนาในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของTMA ในการเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาศักยภาพความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย การกระตุ้นให้องค์กรภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งในด้านการเสนอแนะแผนงาน การจัดการระดมความคิดเห็นในเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนา การร่วมผลักดันผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ (Growth Drivers) ที่ผู้เข้าร่วมระดมสมองได้เสนอวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็น “Sustainable World Leading Food Supplies”


เนเธอร์แลนด์ ประเทศที่มีการวิจัยและพัฒนาที่เป็นเลิศด้านอาหารมากว่า 16 ปี ในขณะนั้นเป็นช่วงที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ผลงานวิจัยด้านเกษตรของประเทศไม่สามารถสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ทำให้งานและอุตสาหกรรมในภาคการเกษตรไม่เป็นที่สนใจของนักธุรกิจและบุคลากรวัยทำงาน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงคิดทำโครงการ Food Valley ขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากเห็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของตนมีการพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง


"Food Valley" มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Wageningen ตอนกลางของเนเธอร์แลนด์ โดยจัดให้ธุรกิจ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยด้านอาหาร/เกษตร มาอยู่รวมกัน มีกลไกการบริหารเป็นนิติบุคคลอิสระ มุ่งให้มีการนำองค์ความรู้ด้านอาหารที่เกิดจากภาควิชาการและการค้นคว้าวิจัยของภาคธุรกิจ ไปพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ในการเดินทางสู่เมืองไฮเทคด้านอุตสาหกรรมอาหาร “Food Valley” ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารในซีกยุโรปที่สามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เมืองสำคัญที่สร้างความสามารถการแข่งขันให้เนเธอร์แลนด์สู่แนวหน้าด้านอุตสาหกรรมอาหารและชีวเทคโนโลยีลำดับต้นๆ คณะเดินทางได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหาร Mr. Roger Van Hoesel, Managing Director ของ Food Valley NL  ซี่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2004 รับฟังแนวทางการดำเนินงาน รูปแบบการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา โดยผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน (ภายในและภายนอกประเทศ) สถาบันศึกษา และสถาบันวิจัยเข้าด้วยกัน (Public-Private Partnership หรือ PPP)ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหลายฝ่าย อาทิ สหภาพยุโรป รัฐบาล เทศบาลท้องถิ่น มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนซึ่งเป็นสมาชิกสมาคม เป็นแหล่งบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถขนาดใหญ่กว่า 100,000 คนโดยการดำเนินงานจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย ด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในระดับสูงขึ้น การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดงาน Food Valley Expo และการมอบรางวัลสำหรับผู้ผลิตที่มีการวิจัย พัฒนา ที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่องขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ ทั้งในเนเธอร์แลนด์และต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจากทั่วโลกกว่า 125 บริษัท

ในบริเวณเดียวกันกับ Food Valley เป็นที่ตั้งของ Wageningen University and Research Centre (Wageningen UR) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่มีความเชี่ยวชาญงานวิจัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในยุโรปทางด้านเกษตรและอาหาร และเป็นที่ตั้งของ Restaurent of the future ภัตตาคารแห่งอนาคตนี้ สามารถรับแขกมื้อเที่ยงได้ 200 คน มีมูลค่าการสร้างกว่า 150 ล้านบาท (4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ใช้เป็นพื้นที่ในการทำการวิจัยทางด้านอาหาร โภชนาการ และจิตวิทยาในการบริโภคของผู้เข้าใช้บริการ ถือได้ว่าเป็นภัตตาคารเพื่อการวิจัยที่มีสีสันแห่งหนึ่งของโลก

ภายในได้รับการตกแต่งเพื่อรองรับการวิจัยในทุกขั้นตอน เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกรับประทานอาหาร ตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งนักวิจัยจะทำการเก็บข้อมูล สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการบริโภค ผลิตภัณฑ์ สี กลิ่น รสชาติ รูปแบบการจัดวางแบบไหน การจัดการแบ่งโซนของอาหารประเภทต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจได้มากกว่า ประเภทของป้ายแนะนำที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกได้ง่ายกว่า รวมถึงการเก็บภาพจากสีหน้าท่าทาง แบบสำรวจทัศนคติ และน้ำหนักตัวของผู้บริโภคแต่ละคน โดยในภัตตาคารจะมีกล้องวงจรปิด ที่ติดตั้งไว้ภายในเพื่อใช้สังเกตการณ์ โดยจัดอาหารเป็นซุ้มตามประเภทต่างๆ ให้ได้เลือกกันอย่างอิสระ ผู้บริโภคจะต้องบริการตัวเอง โดยเลือกอาหารไปตามลำดับเส้นทาง ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีอาหารให้เลือกมากกว่าปกติ


นักวิจัยจะเฝ้าสังเกตผู้บริโภค อยู่ภายในห้องควบคุม ผ่านจอภาพที่ส่งมาจากกล้องวงจรปิด สามารถมองเห็นสีหน้าท่าทาง คำนวณระยะเวลาในการตัดสินใจ ชนิดของอาหารที่ผู้บริโภคแต่ละคนเลือก การชำระค่าอาหารผ่านจะบัตรเครดิตผ่านหน้าจอสัมผัส ซึ่งนักวิจัยสามารถติดตามพฤติกรรมการบริโภคของทุกคนได้ และบริเวณพื้นตรงจุดชำระค่าอาหารจะถูกทำให้เป็นตราชั่ง ไว้สำหรับบันทึกน้ำหนักตัวของผู้บริโภค โดยจะมีซอฟต์แวร์สำหรับประมวลผลทั้งหมดไว้ด้วยกัน ซึ่งคณะผู้บริหารของ TMA ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคารแห่งนี้ด้วย

นอกจากนี้ Wageningen UR ยังประกอบไปด้วย ห้องเรียนด้านการสอนและการวิจัย และห้องปฏิบัติการของหน่วยวิจัยทางด้านการเกษตร ห้องปฏิบัติการในระบบอัตโนมัติที่มีความทันสมัย สามารถวิเคราะห์ผลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ใช้สำหรับเป็นที่ทำการทดลองรวมของหน่วยวิจัยต่างๆ ด้วยความร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยผ่านกลไกของ Food Valley NL  เช่น FrieslandCampina ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตนมของประเทศเนเธอร์แลนด์

ทั้งนี้คณะได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมของ FrieslandCampina ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งในรูปสหกรณ์ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกถึง 20,000 คน คณะผู้บริหารของ TMA ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก Mr. Ger H.W. Willems, Director Scientific Affairs ของบริษัท โดย Mr. Willems ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ Route 2020 ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตและการสร้างคุณค่าโดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมที่สะท้อนอยู่ในทุกส่วนของธุรกิจ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต จนถึงการทำฟาร์ม ทั้งนี้ในด้านการวิจัยและพัฒนาบริษัทฯ ได้ร่วมกับทาง Wageningen UR พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยสาขาการเกษตรและชีวเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องการเลี้ยงดู รวมทั้งแนวทางการจัดการฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย การทำปศุสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ เพื่อหาลักษณะเฉพาะของอาหารที่มีส่วนประกอบเหมาะกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ แปรองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาที่ล้ำหน้าเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรม นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจ เช่น องค์ประกอบของนมที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นสำหรับคนในวัยต่างๆ นมที่มีส่วนประกอบเหมาะแก่การผลิตเนยแข็งชนิดต่างๆ เป็นต้น ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า เกษตรกรโคนมในประเทศเนเธอร์แลนด์มีการดำเนินกิจการในรูปแบบธุรกิจครอบครัวในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่ ผู้เลี้ยงมีการศึกษาในระดับสูงพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับปรุงผลผลิต มีการแลกเปลี่ยนเก็บฐานข้อมูลในแต่ละขั้นตอนการผลิต กันอย่างต่อเนื่องระหว่างเกษตรกร และ บริษัท FrieslandCampina ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งคู่ในการช่วยกับบริหารจัดการฟาร์มและคุณภาพของสินค้าเมื่อนำออกสู่ตลาด ซึ่งในโอกาสนี้ ทางคณะได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ห้องทดสอบรสชาติอาหาร ฯลฯ ซึ่งทุกส่วนในศูนย์แห่งนี้ได้รับการออกแบบให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างดี

อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่ TMA ได้รับเกียรติเข้าเยี่ยมชม คือ Unilever R&D โดยได้รับการต้อนรับจาก Prof. Dr. Rob J. Hamer, Vice-president R&D discover foods ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 ณ เมือง Vlaardingen แหล่งการดำเนินงานวิจัย เทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบริษัทสู่ตลาดโลก สำหรับผลิตภัณฑ์ อาหาร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผม มีพนักงานกว่า 1,000 คน กว่า 50 สัญชาติ เชื่อมโยงฐานการวิจัย กับอีก 5 ศูนย์กลางการออกแบบพัฒนาเทคโนโลยี ระดับโลก (Colworth US, Port Sunlight UK, Bangalore IN, และ Shanghai CHN)ซึ่งพื้นฐานข้อมูลในการทำวิจัยมาจากการสำรวจการรับรู้ พฤติกรรมการบริโภคในเชิงลึก การสร้างแบบจำลองข้อมูล โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จากข้อมูลการจดสิทธิบัตรนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในหน่วยงานวิจัยทั่วโลก มีกว่า 250 -350 รายการต่อปี มีการลงทุนมากกว่า 927 ล้านยูโร โดยในการเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้ ทางคณะได้รับฟังแนวคิดและกระบวนการในการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์บริษัท การบริหารจัดการด้าน IT รวมทั้งได้เยี่ยมชม Pilot Plant

อีกหนึ่งจุดหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้ คือ การร่วมงาน Food Valley Expo ณ เมือง Aenhem งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านอาหารประจำปีระดับนานาชาติ เป็นงานที่รวบรวมผู้ที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรกรรมระดับท้องถิ่นและนานาประเทศ ทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างๆ โดยแต่ละปีจะมีการแสดงนวัตกรรมล่าสุดที่ผลิตจาก Food Valley มีผู้ร่วมงานประกอบไปด้วยนักธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร นักวิจัย เจ้าของผู้ผลิตและแปรรูปอาหาร เข้าร่วมงานและพบปะและเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจ (One to one) กันอย่างคับคั่ง ในงานมีการเสวนาโดยวิทยากรซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอาหารยักษ์ระดับโลกที่เป็นสมาชิกของ Food Valley และในทุกปีจะมีการมอบรางวัลผลงานด้านนวัตกรรมระหว่างสมาชิกของ Food Valley  ซึ่งในปีนี้ รางวัลชนะเลิศ คือ นวัตกรรมชื่อ Pasteur Sensor Tag  ระบบอัจฉริยะในการคำนวณคุณภาพและอายุของสินค้าสดบน Shelf  ของบริษัท NXP developed the semiconductors ได้รับวิจัยและพัฒนาร่วมกับ Food Valley  นอกจากนี้ ภายในงานยังถูกแบ่งเป็นส่วนของการนำเสนอจากบริษัทต่างๆ ในเรื่องของโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีนำสมัยที่หลากหลายอีกด้วย

ในช่วงท้ายของการเดินทาง คณะได้มุ่งสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเข้าพบและเยี่ยมชมการดำเนินงานของ MW Brands เจ้าของเครื่องหมายการค้า “John West” ผู้นำอันดับ 1 ในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตอาหารทะเล รายใหญ่ที่สุดในยุโรป มีฐานการผลิตที่เป็นโรงงานแปรรูปทูน่าใน 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส-โปรตุเกส-เกาะเซเชลส์ และกานา ซึ่งตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2010 MW Brands ได้ถูกควบรวมกิจการและบริหารงาน โดยบริษัทสัญชาติไทย คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย และยังเป็นบริษัทผู้บุกเบิกสร้างอาณาจักรในแถบยุโรป อเมริกา และทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายสิบปี ในปัจจุบันถือได้ว่า TUF เป็นบริษัทผู้ประกอบการไทย ผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก ในการเดินทางเข้าพบครั้งนี้ ท่านประธานกรรมการบริหาร คุณธีรพงศ์ จันศิริ (และดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการ TMA) และ Ms. Elisabeth Fleuriot, CEO ของ MW Brands ได้ให้เกียรติต้อนรับ ร่วมประชุม และนำชมบริษัทด้วยตนเอง

จากการเดินทางร่วมประชุม และเยี่ยมชมงานในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นโอกาสของประเทศไทย ในการเชื่อมโยง การเร่งส่งเสริมหน่วยงานทางด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ ทั้งจากการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาสินค้าทางอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูป เพื่อเผยแพร่ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ในระดับโลก ร่วมกันพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าที่มีศักยภาพ ตอบรับกับแนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ประชากรของโลกจะมีความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 150 % และประเทศไทยของเราจะพร้อมก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร World Leader in food ซึ่งเป็นหนึ่งในการเสริมสร้างความสามารถที่มีศักยภาพในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยของเราได้อย่างยั่งยืนต่อไป

เรียบเรียงจาก : การเดินทางศึกษาดูงาน ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์

โดย คุณกนิษฐา รักษาเขตต์

!
bottom of page